Latest News

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สะพานยีลาปัน สะพานประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2

 

สะพาน ยีลาปัน สะพานประวัติศาสตร์ 
            

สะพานยีลาปัน เป็นสะพานประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2  ที่ข้ามแม่น้ำปัตตานี บนทางหลวงท้องถิ่น เลขที่ 410 บริเวณ กิโลเมตรที่ 35 (นับจากจังหวัดยะลา) บ้านยีลาปัน ตำบลตะลิ่งชัน อำเภบันนังสตา จังหวัดยะลา มีความกว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร พื้นสะพานเป็นเหล็กแบบรังผึ้ง ตัวโครงสร้างทั้งหมดเป็นเหล็กกล้าล้วนๆ สร้างโดยกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวๆ ปี พ.ศ. 2485 หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกแถวชายฝั่งภาคใต้และยึดครองแหลมมาลายู หรือประเทศสหพันธรัฐมาเลเชียในปัจจุบัน 

                ในยุค จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย รัฐบาลจำต้องยินยอมจับมือกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อแลกกับการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งทรงอนุภาพมากที่สุดในยุคนั้น โดยญี่ปุ่นต้องการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน เพื่อขนยุทโธปกรณ์และกำลังพล ไปโจมตีประเทศพม่า และเพื่อยึดครองอินเดียอนานิคมของอังกฤษ ซึ่งในสมัยนั้น การคมนาคมยังไม่สะดวกนัก โดยเฉพาะสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานีตรงจุดนี้ เป็นเพียงสะพานไม้ขอน ซึ่งไม่สามารถขนส่ง ลำเลียงยุทโธปกรณ์ที่มีน้ำหนักจำนวนมากผ่านไปได้ กองทัพญี่ปุ่นได้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่นั้นมา รถทุกคันที่เดินทางไปอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จึงต้องวิ่งผ่านสะพานแห่งนี้ทุกคัน จนกระทั้งในปี 2538 แขวงการทางยะลา ก็ได้สร้างสะพานคอนกรีตขึ้นมาทดแทนเนื่องจากสะพานยีลาปัน แคบไม่สะดวกในการสัญจร โดยในช่วงนั้นมีข่าวลือว่า ญี่ปุ่นจะเอาสะพานคืน จึงมีการสร้างใหม่เพื่อนทดแทนของเดิม

สะพานใหม่ ของแขวงการทางที่สร้างมาทดแทน

              โดยหากย้อนไปไกลกว่านั้น จุดตรงสะพานนี้ ก็คือท่าแพของคนโบราณ ที่เดินทางข้ามไป-มาระหว่างฝั่งเมืองยะลากับเบตง หรือเพื่อเดินทางไปแหลมมาลายู เป็นเส้นการค้าระหว่างเมืองปัตตานี กับเมืองเคดาห์หรือไทรบุรีที่สำคัญเลยที่เดียว โดยกองคาราวานที่จะต้องเดินทางผ่านโดยการข้ามแม่น้ำปัตตานี ด้วยแพ ณ จุดนี้ และใช้เวลาเดินทางมากกว่า 3 วัน แต่เพียง 2 ชั่วโมงสำหรับยุคปัจจุบัน ยิ่งถ้าย้อนไปยุคของคนบ้านฮาลา หมู่บ้านที่สาบสูญ ยิ่งน่าสนใจ เพราะคนฮาลาจะตัดไม้ไผ่จากหมู่บ้านกลางป่าลึก ร่องลงมาตามสายน้ำจนกระทั่งแพไม้ผ่ามาถึงตรงจุดนี้ ก็จะเก็บกล้วย ผลไม้ เพื่อเอาไม้ไผ่ ของป่า ผลไม้ และกล้วย ไปแลกกับเกลือ และกะปิที่ท่าเรือเมืองปัตตานี สำหรับสมาชิกชาวฮาลาใช้กิน ประกอบอาหารกัน ทั้ง 3 หมู่บ้าน นี่คือวิถีชีวิตของคนโบราณ ที่ผู้เขียนฟังแล้วยังประทับใจ ครั้งเมื่อได้ไปเข้าค่ายเยาวชนอนุรักษ์ฯ และมีโอกาสนั่งคุยกับผู้เฒ่าฮาลาในครั้งนั้น

        วันนี้ สะพานยีลาปัน ยังคงอยู่ ยังคงตั้งตระหง่านท้าทายสายลม แสงแดด และสถานการณ์ไฟใต้ วันหน้าหากเหตุการณ์สงบ หากบ้านนี้เมืองนี้หันหน้าเข้าหากัน เราคงได้เห็นกรุ๊ปนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ชาวอังกฤษ ได้มายืนถ่ายรูป มายืนรำลึก ซึมซับ ถึงอดีตกาล ที่ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษเขาได้มาใช้ชีวิต เป็นแรมปีก็ได้ ไม่เชื่อคอยดู... 

ศณีรา รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Recent Post